วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คิดอย่างไรไม่ให้เครียด

เครียด เป็นภาระที่ทุกคนไม่อยากประสบพบพาน แต่คงไม่มีใครที่ไม่เคยเครียด ดังนั้นมาทำความรู้จักกับความเครียด และวิธีการคิดเพื่อที่จะได้ไม่เครียดกันดีกว่า
ความเครียด เป็นเรื่องของร่างกายและจิตใจ ที่เกิดจากการตื่นตัวเตรียมรับกับสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งคาดว่าเป็นเรื่องที่เกิดกำลังความสามารถที่จะแก้ไขได้ ทำให้รู้สึกหนักใจ เป็นทุกข์และส่งผลทำให้เกิดอาการผิดปกติ ทั้งทางร่างกายและจิตใจตามไปด้วย
ความเครียดนั้นมีกันทุกคน แต่ละมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาการคิดการประเมินสถานการณ์ของแต่ละคน ถ้าคิดว่าปัญหาไม่ร้ายแรงแก้ไขได้โดยง่าย ก็จะไม่เครียด แต่ถ้าหากว่าปัญหานั้นยิ่งใหญ่ ร้ายแรง แก้ไขลำบาก ก็จะทำให้เครียดมาก หากว่ามีความเครียดในระดับที่พอดี ๆ ก็จะช่วยให้มีพลัง มีความกระตือรือร้นในการต่อสูงชีวิต ฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ได้ ซึ่งนี่เองคือข้อดีของความเครียด ไม่ใช่ว่าเครียดจะไม่มีส่วนดี ๆ เอาเสียเลย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดมี 2 ประการคือ
1. สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม ปัญหาการปรับตัว ปัญหาการเรียน ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ล่วนเป็นตัวกระตุ้นอย่างดีที่จะทำให้เกิดความเครียดได้
2. การคิดและการประเมินสถานการณ์ของบุคคล จะสังเกตได้ว่าคนที่มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ใจเย็น จะมีความเครียดน้อยกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย เอาจริงเอาจัง ใจร้อนและวู่วาม
จากสาเหตุที่สำคัญนี้ ความเครียดจะไม่เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่จะเกิดจากทั้งสองสาเหตุประกอบกันคือ มีสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นตัวกระตุ้น แล้วมีความคิดและการประเมินสถานการณ์เป็นตัวบ่งว่าจะเครียดมากเครียดน้อยเพียงใด
เมื่อปัญหากระตุ้นให้เกิดความเครียด การลดความเครียดจึงจำเป็นที่จะต้องรู้วิธีคิดที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งวิธีคิดที่เหมาะสมได้แก่
1. คิดในแง่ยืดหยุ่นให้มากขึ้น อย่าเอาจริงเอาจัง เข้มงวดจับผิด หรือตัดสินถูกผิดตัวเอง หรือผู้อื่นตลอดเวลา รู้จักผ่อนหนัก ผ่อนเบา ผ่อนสั้น ผ่อนยาว ลดทิฐิมานะและที่สำคัญควรรู้จักการให้อภัยก็จะทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น และมีความเครียดน้อยลง
2. คิดอย่างมีเหตุผล ไม่ด่วนเชื่ออะไรง่าย ๆ ไม่ด่วยสรุปอะไรง่าย ๆ ให้พยายามใช้เหตุผลตรวจสอบข้อเท็จจริง ความเป็นไปได้ ไตร่ตรองให้รอบคอบ เพราะนอกจากจะไม่ทำให้ตกเป็นเหยื่อให้ใครหลอกเอาง่าย ๆ แล้ว ยังสามารถตัดความกังวลใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปได้อีกด้วย
3. คิดหลาย ๆ แง่มุม มองหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านดีและไม่ดี พึงระลึกไว้เสมอว่า ทุกอย่างมีข้อดีและข้อไม่ดีประกอบกันทั้งสิ้น จึงไม่ควรมองด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียวให้ใจเป็นทุกข์ และที่สำคัญ ควรหัดคิดหัดมองในมุมของคนอื่นด้วย อย่างที่เขาเรียกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะช่วยให้เรามองอะไรได้กว้างไกลกว่าเดิม
4. คิดแต่เรื่องดี ๆ เพราะหากว่าเราคิดแต่เรื่องร้าย ๆ เรื่องความล้มเหลวผิดหวังหรือเรื่องที่เป็นทุกข์ ก็จะทำให้เครียดมากขึ้น ควรคิดถึงเรื่องดี ๆ ให้มาก ๆ นอกจากไม่ทำให้เครียดแล้วยังทำให้สบายใจมากขึ้นด้วย
5. คิดถึงคนอื่นบ้าง อย่าหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น เปิดใจให้กว้างรับรู้ความรู้สึกและความเป็นไปของคนอื่นและคนใกล้ชิด ใส่ใจที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของผู้อื่นในสังคม บางครั้งจะพบว่า ปัญหาหรือความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นเรื่องเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับปัญหาของผู้อื่น ซึ่งความรู้สึกแบบนี้จะทำให้เครียดน้อยลง จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น และยิ่งถ้าสามารถช่วยให้ผู้อื่นแก้ไขปัญหาได้ ก็จะทำให้สุขใจมากขึ้นเป็นทวีคูณเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น: